ประวัติการแห่ดาว
ใกล้ถึงวันสมโภชพระคริสตสมภพ หรือ วันคริสต์มาส ของทุกปี เราจะเห็นห้างสรรพสินค้าและร้านรวงต่างๆ
ประดับตกแต่ง ต้นคริสต์มาสด้วยไฟหลากสีระยิบระยับ มีภาพชายแก่หนวดเครายาวสีขาวพุงพุ้ยในชุดสีแดงสดใสพร้อมถุงของขวัญบนล้อเลื่อน มีกวางลากจูง คลอด้วยบทเพลงคริสต์มาสในจังหวะสนุกๆ เพื่อดึงดูดผู้คนที่ผ่านไปมา ให้หันมาสนใจและจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในร้านรวงของตน บรรยากาศเช่นนี้มีให้เห็นทั่วไปตามเมืองใหญ่ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย แต่ในอีกมุมหนึ่งของหมู่บ้านคริสตชนในภาคอีสานของ ประเทศไทยดูจะต่างออกไป โดยเฉพาะในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือ สกลนคร
นครพนม กาฬสินธุ์และมุกดาหาร จะมีบรรยากาศของความสมัครสมานกลมเกลียวแบบพี่น้อง ที่ร่วมแรงร่วมใจกันเตรียมฉลองคริสต์มาส ด้วยการทำดาวและถ้ำพระกุมาร ช่วยกันประดับตกแต่งวัดประจำหมู่บ้านให้สวยงาม รวมถึงบ้านเรือนของตน เพื่อเฉลิมฉลองการประสูติมาของพระเยซูเจ้า พวกเขาได้สานต่อความเชื่อศรัทธานี้
มามากกว่า 100 ปี จนกลายเป็นประเพณีในคืนวันที่ 24 ธันวาคม ของทุกปี
ความหมายและที่มาของการแห่ดาว
คำว่า ดาว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2545 ได้ให้ความจำกัดความเอาไว้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นดวงมีแสงระยิบระยับในท้องฟ้าเวลามืดนอกจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ นอกนั้นยังเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่เด่นดังในทางใด ทางหนึ่ง
ดาวจึงหมายถึง ดวงไฟที่ส่องแสงระยิบระยับบนท้องฟ้าในเวลากลางคืนทำให้ท้องฟ้าแลดูสว่างสุกใส ด้วยเหตุนี้จึงอุปมาคนที่มีชื่อเสียงดี หรือมีหน้าตาสะสวยและความสามารถโดดเด่น เป็นเหมือนดาวบนฟ้าที่ส่องประกายเจิดจ้ายามค่ำคืน อย่างนักแสดงที่เรียกว่า ดารา สำหรับชาวตะวันออกเชื่อกันว่าทุกคนเกิดมามีดาวประจำตัว โดยเฉพาะบุคคลสำคัญที่มีบุญบารมี ดาวประจำตัวจะสว่างสุกใสกว่าปกติสังเกตเห็นได้ง่าย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเวลาที่พระเยซูเจ้าประสูติ จะปรากฏดาวประจำพระองค์ให้พวกโหราจารย์หรือนักปราชญ์จากทิศตะวันออกได้เห็น พวกเขาได้ออกเดินทางตามดาวดวงนั้นไป เพื่อไหว้นมัสการและถวายของขวัญตามที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ (มธ 2:1-12) ดังนั้น ดาวในคริสตศาสนา จึงเป็นสัญลักษณ์หมายถึง การบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า และเป็นสื่อนำทางพวกโหราจารย์ให้ได้พบกับพระกุมารเยซูในถ้ำเลี้ยงสัตว์ที่เมืองเบธเลเฮม ประเทศปาเลสไตน์ ส่วนประเพณีแห่ดาวในเทศกาลคริสต์มาส มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เข้าใจว่าคงมีมาตั้งแต่แรกเริ่มที่คริสตศาสนาเข้ามาในภาคอีสานในปี ค.ศ. 1881 ( พ.ศ. 2424) โดยการนำของ คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ โปรดม (Jean PRODHOMME) และคุณพ่อซาเวียร์
เกโก (Xavier GEGO) ธรรมทูตรุ่นบุกเบิกคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) ที่สอนให้คริสตชนทำดาวประดับวัดในเทศกาลคริสต์มาส ประกอบกับธรรมชาติของคนอีสานที่ร่าเริงสนุกสนานมีงานประเพณีแห่แหนตลอดทั้งปี
การประยุกต์ประเพณีทำดาวประดับวัดในเทศกาลคริสต์มาส มาเป็นประเพณีแห่ดาวรอบวัดหรือชุมชน
จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ก่อนจะกลายมาเป็นประเพณีนิยมของทุกวัดที่กระทำกันในคืนวันที่ 24
ธันวาคม ของทุกปี
การทำดาวประดับวัดของหมู่บ้านคาทอลิก ในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ก็เหมือนกับการทำถ้ำพระกุมารและการประดับต้นคริสต์มาสในประเทศยุโรป แต่การทำดาวของวัดต่างๆ
ในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ดูจะมีชีวิตชีวาและวิวัฒนาการมากกว่า เห็นได้จากการประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรม
ท้องถิ่นและวิถีชีวิตของชุมชน จากการทำดาวประดับวัดธรรมดาได้พัฒนาไปเป็นการทำดาวประดับบ้านเรือน
การแห่ดาวและการประกวดดาว เพื่อสืบสานความเชื่อศรัทธาอย่างมีสีสันและชีวิตชีวา อันแสดงออกถึงความชื่นชมยินดีของชุมชนตามจิตตารมณ์ของคริสต์มาส
ทำไมต้องมีการแห่ดาว
หลายคนที่ต้องการคำตอบความกระจ่างในเรื่องนี้ ประเพณีแห่ดาวในเทศกาลคริสต์มาสนี้
มีเพียงแห่งเดียวในโลก คือ ที่มิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง เท่านั้น การแห่ดาว
เป็นกิจกรรมในเทศกาลคริสต์มาส เพื่อระลึกเหตุการณ์ที่บรรดาโหราจารย์ได้ติดตาม
ดาวประหลาดดวงหนึ่ง เพื่อไปพบสถานที่ประสูติของพระเยซูเจ้าที่แบธเลเฮม และถือกันว่าดวงดาวคือสัญลักษณ์แห่งการประสูติของพระเยซู
แห่ดาวที่ท่าแร่
ถ้าใครที่อยากสัมผัสรูปแบบเทศกาลคริสต์มาสที่ไม่จำเจ ไม่ซ้ำใคร ขอแนะนำให้มาที่ "ชุมชนบ้านท่าแร่ " ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร หมู่บ้านท่าแร่เป็นชุมชนคาทอลิคเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี และถือว่าเป็นชุมชนชาวคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนนับถือศาสนาคริสต์ เล่ากันว่า ในอดีตชาวท่าแร่เป็นคริสตศาสนิกชน อพยพมาจากประเทศเวียดนาม ที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงานทาสและมีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ จำนวน 40 คน มาอาศัยอยู่ในตัวเมืองสกลนคร โดยมีบาทหลวงเกโก มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสคอยดูแล เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ทั้งมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐบางคน บาทหลวงเกโกจึงหาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ โดยจัดทำแพขนาดใหญ่ทำด้วยเรือเล็ก
นำไม้ไผ่ผูกติดกัน ใช้ผ้าห่มและผืนผ้าขึงแทนใบ บรรทุกทั้งคนทั้งสัมภาระ ให้สายลมพัดพาไปในทิศที่พระเป็นเจ้าทรงประสงค์ ในที่สุดพวกเขาสามารถข้ามไปอีกฟากหนึ่งของหนองหารได้อย่างปลอดภัย และตั้งรกรากใหม่เป็นชุมชนชาวคริสต์ บ้านท่าแร่
เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสที่ท่าแร่ จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23-24 ธันวาคม ของทุกปี โดยนอกจากจะมีกิจกรรมถนนคนเดิน ไว้ให้นักช๊อปเที่ยวชมและซื้อสินค้าแล้ว ในค่ำคืนของวันที่ 23 ธันวาคม จะมีรถขบวนแห่ดาวใหญ่ จากชุมชนทั้ง 15 ชุมชนของเทศบาลตำบลท่าแร่ โรงเรียนในตำบลท่าแร่ จากประชาชนทั่วไปที่อยู่ในท้องที่ และจากต่างจังหวัด ที่ตกแต่งรถดาวใหญ่ ประดับประดาด้วยไฟแสงสี มีซานต้าและซานตี้อยู่บนขบวนรถ คอยแจกลูกอมให้กับผู้คนและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชม พร้อมกับเปิดเพลงคริสต์มาส แห่รอบชุมชนบ้านท่าแร่ ก่อนที่จะจอดรวมกันที่ศาลามาร์ติโน ท่าแร่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพอันสวยงามไว้เป็นที่ระลึก
ส่วนในค่ำคืนของวันที่ 24 ธันวาคม จะมีพิธีแห่ดาวเล็ก (ดาวมือถือ) แบบดั้งเดิม รอบวัดอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ ก่อนที่จะเข้าวัด ชมการแสดงละครเทวดา "การกำเนิดของพระเยซูกุมาร" และประกอบพิธีมิสซาเนื่องในวันคริสต์มาส
ประเพณีแห่ดาวที่สกลนคร
ประเพณีแห่ดาวที่สกลนคร เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องโดยตรงกับ พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์
แสนพลอ่อน อดีตผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงระหว่างปี ค.ศ. 1980-2004 (พ.ศ. 2523-2547) ที่มีความประสงค์จะให้หมู่บ้านคริสตชนในเขตปกครอง ได้นำดาวที่ใช้แห่ในคืนวันที่ 24 ธันวาคม เพื่อเฉลิมฉลองการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า
ในหมู่บ้านของตน มาร่วมแห่อีกครั้งที่สกลนครเพื่อสนับสนุนกลุ่มคริสตชนวัดพระหฤทัยฯ สกลนคร
ซึ่งยังมีจำนวนน้อยอยู่ การแห่ดาวที่สกลนครเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525)
หลังจาก พระคุณเจ้าคายน์ แสนพลอ่อน สร้างสำนักมิสซังแห่งใหม่ที่สกลนครและย้ายมาประจำที่สำนักใหม่แล้ว โดยมอบหมายให้ชุมชนท่าแร่ หมู่บ้านคริสตชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และศูนย์กลางของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เป็นผู้นำในการทำดาวและประดับประดารถบุษบก
ถ้ำพระกุมารที่ใช้ในขบวนแห่ โดยเริ่มแห่จากศาลากลางจังหวัดสกลนครไปยังบริเวณโรงเรียน
เซนต์ยอแซฟสกลนคร ก่อนที่จะมีพิธีเฉลิมฉลองคริสต์มาส เหมือนเช่นที่ทำกันในแต่ละวัด เป็นธรรมดาอยู่เองที่การริเริ่มทำสิ่งใหม่ที่ไม่มีใครทำมาก่อน ย่อมมีอุปสรรคปัญหาและความยากลำบาก เช่นเดียวกับการแห่ดาวที่สกลนคร ในปีแรกมีดาวจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมขบวนแห่จำนวนไม่มาก และไม่ได้รับการยอมรับจากชาวสกลนครเท่าใดนัก รวมถึงผู้ร่วมงานบางคนที่มองว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ แต่พระคุณเจ้าคายน์ แสนพลอ่อน ยังคงยืนหยัดที่จะจัดให้มีประเพณีแห่ดาวนี้เรื่อยมา และพยายามปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นในแต่ละปี ต่อมาได้จัดให้มีการประกวดดาวทำให้มีจำนวนดาวจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมแข่งขันและขบวนแห่เพิ่มมากขึ้น หลังจากได้จัดแห่ดาวที่สกลนคร ผ่านไปหลายปีชาวสกลนครเริ่มยอมรับและกล่าวขวัญถึง บางปีไม่ได้จัดที่สกลนคร เช่นในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2543) ย้ายไปจัดที่หมู่บ้านท่าแร่เพื่อสมโภชการเปิดปี ปีติมหาการุญ คริสตศักราช 2000 เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้จัดที่สกลนครประจำทุกปี
จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) นายปรานชัย บวรรัตนปราน ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ขณะนั้น ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุประเพณีแห่ดาวให้เป็นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวงานหนึ่งของจังหวัด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้มาเที่ยวชมและร่วมงานคริสต์มาสที่สกลนคร